กรุณารอสักครู่ ...

จะรู้ได้อย่างไรว่าแพ้เครื่องสำอาง?

9 ธ.ค. 2565 15:42:37 Admin MdH 3088

feature-image

จะรู้ได้อย่างไรว่าแพ้เครื่องสำอาง?

 

“อยู่ดี ๆ มีอาการคัน บางครั้งมีอาการแสบแดง หรือจะเป็นเพราะเราแพ้เครื่องสำอางที่กำลังใช้อยู่”

 

 

ไม่แปลกที่คำถามนี้จะอยู่ในใจหลาย ๆ คน โดยเฉพาะคนที่หมั่นดูแลผิว และคอยหาเครื่องสำอางมาใช้กับผิวของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นผิวหน้าหรือผิวตัว  แต่ทำไมสิ่งที่ได้ไม่ใช่ผิวที่ดูดีแข็งแรงแต่กลับเป็นผิวที่คันจนต้องเกาตลอดเวลา แดงจนเห็นได้ชัด หรือบางครั้งแสบจนรบกวนจิตใจและการใช้ชีวิตประจำวัน “นี่เราแพ้เครื่องสำอางรึเปล่า?”  เพื่อให้เข้าใจคำว่า “แพ้” ได้อย่างถูกต้อง เรามาลองดูข้อมูลเกี่ยวกับอาการแพ้ดูดีกว่าว่าทุก ๆ คนเข้าใจคำว่า “แพ้” ที่เป็นคำดูรวม ๆ หรือ “ผื่นแพ้” นั้นตรงกับทางการแพทย์หรือไม่ โดยที่การแพ้แบ่งได้เป็นหลายประเภท

 

แต่เพื่อให้เข้าใจได้ง่าย จะขอแบ่งเป็น 2 ประเภทง่าย ๆ คือ

1. เราแพ้แต่คนอื่นไม่แพ้

2. ไม่ว่าใครก็แพ้

 

ภาพคนที่กำลังทนทุกข์กับผื่นแพ้และคัน

 

เริ่มกันที่ “เราแพ้แต่คนอื่นไม่แพ้” คำนี้หมายความว่าอย่างไร? คำนี้หมายความว่าการที่เรา “สัมผัส” กับสารอะไรก็ตาม (ไม่จำเป็นต้องเป็นเครื่องสำอาง) แล้วเกิดอาการ “แพ้” ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผื่น อาการคัน อาการแสบแดง แต่ในขณะที่คนอื่นทั่ว ๆ สัมผัสกับสารเดียวกัน กลับไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้น สาเหตุนั้นสามารถแบ่งเป็นหลัก ๆ ได้เป็น “ผิวหนังอ่อนแออยู่เดิม” ไม่ว่าจะเป็น ภูมิแพ้ผิวหนัง (atopic dermatitis) ที่จะมีอาการแสบคันเป็นทุนเดิม ผื่นแพ้ไขมันตนเองที่ใบหน้า (seborrheic dermatitis) หรือ "เซ็บเดิร์ม" ซึ่งจะมีอาการแสบบริเวณร่องจมูกหรือหว่างคิ้ว หรือแม้แต่โรคสะเก็ดเงิน (psoriasis) ซึ่งไม่ว่าจะเป็นแบบไหนก็จะมีผิวหนังที่อ่อนแอกว่าคนทั่วไปเนื่องจากมีหลาย ๆ องค์ประกอบในชั้นผิวหนังที่ทำตัวเป็นเกราะป้องกันผิวนั้นน้อยกว่าคนทั่วไป เช่น สารเซราไมด์ (ceramide) ที่จะอยู่ระหว่างเซลล์ผิวหนังเป็นเหมือนปูนในกำแพงคอยป้องกันไม่ให้ผิวสูญเสียน้ำ ทำให้ไม่ว่าจะใช้เครื่องสำอางอะไร ก็มีโอกาสระคายเคืองหรือที่ทุกคนเรียกว่า “แพ้” ง่ายขึ้น

 

อีกสาเหตุหลักที่ทำให้การแพ้ของเรานั้นอยู่ในกลุ่ม “เราแพ้แต่คนอื่นไม่แพ้” ก็คือ “ผื่นแพ้สัมผัส” (Allergic contact dermatitis) เกิดจาก “ภูมิคุ้มกันไวเกินปกติ” จากร่างกายเราเองที่บริเวณผิวหนัง โดยภูมิคุ้มกันของร่างกายมีปฏิกิริยายาต่อสารเฉพาะเจาะจง “บางอย่าง” ที่เราใช้ทาบนผิวหนัง เช่น น้ำหอม สารกันเสีย สารให้สีต่าง ๆ ในผลิตภัณฑ์ หรือเครื่องสำอาง หากหลีกเลี่ยงไม่สัมผัสกับสิ่งที่เราเคยมีอาการแพ้ ก็จะไม่มีอาการซึ่งไม่ต่างอะไรจากคนปกติเลย นี่คือจุดที่แตกต่างระหว่างกลุ่มแรกและกลุ่มที่สองในกลุ่ม “เราแพ้แต่คนอื่นไม่แพ้” นั่นเอง

 

มาถึงในประเภทที่สองซึ่งก็คือ “ไม่ว่าใครก็แพ้” โดยอันนี้จะมุ่งเน้นเป้าหมายไปที่ชนิดของสารเคมีมากกว่า ที่ผู้เขียนขออนุญาตเรียกแบบนี้เพราะ สารเคมีในกลุ่มนี้ ไม่ว่าใครโดนเข้าไปก็จะแสดงอาการกันทั้งนั้นไม่มากก็น้อยขึ้นกับสภาพผิว เช่นสารที่มีความเป็นกรด ตัวอย่างเช่น AHA BHA กรดวิตามิน A หรือ วิตามิน C เข้มข้น ซึ่งหากมีผสมอยู่ในเครื่องสำอางที่เราเลือกซื้อมาก็คงเพิ่มโอกาสที่จะมีอาการแสบหรือระคายเคือง

 

รู้อย่างนี้แล้ว เราจะสามารถป้องกันการ “แพ้” พวกนี้ได้อย่างไรบ้าง? ทาง MdH มีหลักท่องจำหลักง่าย ๆ ไปว่า

 

“หลีกเลี่ยง” และ “เสริมสร้าง”

 

1. “หลีกเลี่ยง” ผลิตภัณฑ์หรือเครื่องสำอางที่เคยใช้แล้วมีอาการแพ้หรือมีส่วนผสมของสารที่เคยใช้แล้วมีอาการแพ้

2. “หลีกเลี่ยง” การอาบน้ำอุ่น (เนื่องจากทำให้ผิวแห้งและอ่อนแอกว่าปกติ) ให้ใช้เป็นน้ำอุณหภูมิปกติหรือฟอกสบู่ที่มีความแรง เปลี่ยนมาใช้สบู่เด็กซึ่งมีความอ่อนโยนกว่า โดยเฉพาะคนที่อยู่ในกลุ่ม “ผิวหนังอ่อนแออยู่เดิม"

3. หากมีผื่นแพ้ที่หน้าให้ “หลีกเลี่ยง” การล้างหน้าด้วยสบู่หรือโฟมล้างหน้า ให้ล้างด้วยน้ำเปล่า เนื่องจากผลิตภัณฑ์เหล่านั้นจะชะล้างเอาไขมันหลายชนิดที่เหมือนเป็นเกราะป้องกันออกไป ทำให้ผิวอ่อนแกว่าเดิม

4. “เสริมสร้าง” ความแข็งแรงของผิวด้วยผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่ทั้งบำรุงและเสริมสร้างความแข็งแรงของผิวหนัง เช่น มอยเจอไรเซอร์ (Moisturizer) ที่มีส่วนผสมของทั้ง ไฮยารูโลเนต และ เซราไมด์ (ซึ่งสารสองชนิดนี้คืออะไรและมีประโยชน์อย่างไร ขอติดเอาไว้มาเป็นบทความละเอียดต่อไป) และไม่มีส่วนผสมของสารกันเสียพาราเบน ที่พบว่าทำให้เกิดอาการแพ้บ่อย ๆ และไม่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์

 

วิธีการป้องกันการแพ้เครื่องสำอาง

สิ่งที่แนะนำ

1.ทดลองผลิตภัณฑ์ที่ผิวบริเวณอื่นทุกครั้งก่อนตัดสินใจซื้อ โดยทาผลิตภัณฑ์นั้นบริเวณท้องแขน (ซึ่งมีผิวบางเท่า ๆ กับใบหน้า) ให้มีขนาดประมาณเหรียญ 10 บาท แล้วสังเกตดูประมาณ 1 วันว่าเกิอาการอะไรหรือไม่

2.หากผิวแพ้มากจริง ๆ ลองวิธีข้างต้นแล้วไม่ดีขึ้น MdH แนะนำให้ไปพบแพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนังเพื่อตรวจเพิ่มเติมเนื่องจากอาจต้องใช้ยาในการช่วยรักษาต่อไป

 

สุดท้ายนี้หวังว่าทุกคนจะได้ความรู้ไปไม่มากก็น้อยและสามารถออกจาก “วงการผื่นแพ้” กันได้ไม่มากก็น้อยนะครับ


Tags


  • Share :


Gallery




ที่เกี่ยวข้อง